ท่านพ่อสุ่นเมื่อเสือจ๋ายตายแล้วท่านก็ปกครองวัดของท่านเรื่อยมา ชีวิตท่านแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน ญาติโยม คนไหนป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถูกคุณถูกกระทำ เมื่อมานิมนต์ท่านๆก็จะไปให้ทุกคนไม่เคยขัด คนที่ถูกผีเข้าเจ้าสิง พอท่านก้าวขึ้นบันไดบ้านคนนั้นผีจะพากันร้องและออกไปทันที ฉะนั้นท่านพ่อจึงเป็นที่พึ่งของสัตว์ผู้ยากโดยแท้ เป็นเสมือนกิ่งโพธิ์กิ่งไทร ให้ลูกนก ลูกกา อาศัย และลงว่าผู้ใดมานิมนต์ท่านให้ทางลำบากยังไงท่านก็ต้องดั้นด้นไปจนได้ จะหาผู้ใดเสมอเหมือนท่านไม่มีอีกแล้ว และสาเหตุที่สำคัญที่บั่นทอนสุภาพร่างกายของท่านก็คือ ถนนหนทางสมัยก่อนขรุขระลำบากมาก ทางซักกิโลนั่งเกวียนไปเกวียนก็กระแทกกับถนนซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ร่างกายของท่านก็ทรุดโทรมลง ประกอบกับไม่มีเวลาพักผ่อน สังขารของท่านจึงทรุดโทรมเรื่อยมา แต่ท่าน พ่อท่านไม่เคยปริปากบ่นให้ใครได้ยิน แม้แต่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด และในที่สุดก็เป็นวัฏฏะของชีวิตว่าจะต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านพ่อสุ่นท่านก็เริ่มเจ็บออดๆแอดๆเรื่อยมาด้วยโรคชรา และเมื่อสุดจะทนฝืนสังขารต่อไปได้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วันพฤหัสบดี เดือน 3 แรม 5 ค่ำ พ.ศ. 2471 (ต้นรัชกาลที่ 7 ) ท่านก็ถึงกาลมรณะภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ รวมอายุท่านได้ 77 ปี 57 พรรษา วันที่ท่านพ่อสุ่น มรณะภาพลงนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไปซักถามจะพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า “วันนั้นเหมือนดวงอาทิตย์ดับที่แหลมสิงห์ ” ทุกบ้านเรือนเงียบเหงาวังเวง ทุกคนมุ่งหน้าเข้าสู่วัดทั้งๆที่หน้านองด้วยน้ำตา ทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือจัดการงานศพท่าน พวกบางกะสร้อยเมืองชล เมื่อรู้ข่าวก็พากันมาหลายสิบลำเรือ ขนข้าวขนของมาช่วยงาน หลวงพ่อภูและพระทางเมืองชลหลายสิบรูปพร้อมใจกันมาช่วยงานศพท่าน และได้ประชุมลงความเห็นกันว่าสมควรจะนำศพท่านไว้ที่วัดสำหรับไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหา และชาวบ้านเคารพกราบไหว้กันก่อน แล้วค่อยประชุมเพลิงศพท่านทีหลัง
ทางวัดจึงนำศพท่านไว้ที่วัดจนถึง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2472 จึงพร้อมใจกันจัดการประชุมเพลิงศพท่าน และให้มีการแสดงมหรสพทุกชนิด จัดว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดตั้งแต่จัดงานกันมา ผู้คนจากสารทิศหลั่งไหลมาช่วยงานท่านแน่นวัดไปหมด พวกมาจากบางกะสร้อย เมืองชลพากันมาเนืองแน่นอีกครั้ง หลวงพ่อภูเป็นประธานจัดการแต่งศพท่านอย่างสวยงาม พวกผู้หญิงที่มาจากบางกะสร้อยพากันแกะสลัก ฟัก แฟง แตงกวา เป็นรูปลวดลายต่างๆอย่างสวยงามใส่เรือมา ทำกับข้าวให้คนกินเนื่องในวันประชุมเพลิงศพท่าน พระจากเมืองจันทน์และใกล้เคียงพร้อมใจกันมาช่วยงานท่านหลายสิบรูป พระพื้นบ้านก็มี หลวงพ่อยวน วัดเขาชำห้าน หลวงพ่อทอก วัดหนองชิ่ม หลวงพ่อจิ่ม วัดไผ่ล้อมท่าใหม่ มาเป็นผู้ทำพลุ ตะไล ไฟพะเนียง อีตื้อ โดยหลวงพ่อจิ่มมาอยู่เตรียมการก่อนเกือบครึ่งเดือน และหลวงพ่อจิ่มได้ทำ นกบินกลับรังคือ ทำโครงไม้ไผ่เป็นรูปนกและพอจุดไฟ นกโครงไม้ไผ่ก็ร่อนออกไป และเมื่อหมดเชื้อไฟก็บินกลับมาตกที่เดิมได้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านยิ่งนัก และการประชุมเพลิงศพท่านพ่อสุ่นนั้น ลำบากมากเพราะทำท่าว่าจะเผาไม่ไหม้ ต้องมีการจุดธูปเทียนขอขมาลาโทษหลายคน เมื่อประชุมเพลิงศพท่านเสร็จ ทางวัดจึงรวบรวมอัฏฐิท่านไว้ที่วัดต่อไป
และต่อมาจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2480 บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ระลึกถึง พระคุณท่าน จึงพร้อมใจกันก่อเจดีย์ เชิญอัฏฐิท่านมาบรรจุไว้เพื่อให้ลูก หลานที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เคารพ กราบไหว้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านต่อไป และวันนั้นทางวัดได้สร้างเหรียญรูปท่านขึ้นมาแจกแก่ผู้ไปร่วมงาน เรียกว่า 2480
บทส่งท้าย ท่านพ่อสุ่นทุกวันนี้ลูกหลานเหลนของท่านยังอยู่มากก็ที่ ตำบลบางสระเก้า และหลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดบางสระเก้า ปัจจุบันนี้มีศักดิ์เป็นเหลนของท่าน และมีรูปร่างใกล้เคียงกันมาก และท่านก็เป็นพระที่ชาวบ้านบางสระเก้านับถือกันมาก